‘เฉลิมชัย’ เปิดงานสัมมนาภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ‘เดินหน้าเกษตรวิถีใหม่ ขับเคลื่อนไทยอย่างยั่งยืน' สศก. แถลง GDP เกษตร ปี63 หดตัว 3.3% เหตุเผชิญแล้งเป็นหลัก รวมถึงโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ

ข่าวที่ 145/2563  วันที่ 23 ธันวาคม  2563
‘เฉลิมชัย’ เปิดงานสัมมนาภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ‘เดินหน้าเกษตรวิถีใหม่ ขับเคลื่อนไทยอย่างยั่งยืน' สศก. แถลง GDP เกษตร ปี63 หดตัว 3.3%  เหตุเผชิญแล้งเป็นหลัก รวมถึงโควิด-19 ที่ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ
 
วันนี้ (23 ธันวาคม 2563) ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นประธานเปิดการสัมมนา ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 “เดินหน้าเกษตรวิถีใหม่ ขับเคลื่อนไทยอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ซึ่งจัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการขับเคลื่อนงานสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปี 2564 ว่า ภาคเกษตรมีความสำคัญ อย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย เนื่องจากเป็นภาคการผลิตที่เป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติโดยประชากรร้อยละ 40 ของประเทศอยู่ในภาคเกษตร และท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ล้วนส่งผลกระทบ จึงจำเป็นที่ภาคเกษตรไทยต้องปรับตัวให้ทันต่อความท้าทายเหล่านี้
การดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ ในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน มีการกำหนดนโยบายด้านการเกษตรให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศและทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแนวทางตลาดนำการผลิต จะให้ความสำคัญในทุกมิติ ตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการของตลาด เพื่อเชื่อมโยงกับการวางแผนการผลิต สู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร การตรวจสอบย้อนกลับ ตลอดจนส่งเสริมและให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาในทุกด้าน จะยึดเกษตรกรเป็นศูนย์กลางและคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลักเสมอ
“การนำเสนอภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ที่ สศก. จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี นับว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมของประเทศ ทำให้ทราบว่า โครงสร้างการผลิตของภาคเกษตรและความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศในแต่ละปี มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบาย มาตรการ รวมทั้งเป้าหมายของแผนพัฒนาการเกษตรต่าง ๆ โดย ปีนี้ ภาคเกษตรเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงช่วงกลางปี 2563 ทำให้มีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโต ส่งผลให้ผลผลิตพืชและผลผลิตประมงที่สำคัญลดลง รวมถึงปัญหาด้านโลจิสติกส์จากมาตรการปิดเมืองเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การขาดแคลนแรงงาน และเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ และการส่งออกสินค้าเกษตร จึงเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ส่งผลต่อการชะลอตัวของ GDP ภาคเกษตร ในปี 2563 ” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว
ทั้งนี้ ภายในงาน ทุกภาคส่วน ทั้งเกษตรกร นักวิชาการ ผู้ประกอบการ และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร จะได้ทราบถึงสถานการณ์เศรษฐกิจการเกษตร ปัจจัยที่ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบ รวมทั้งแนวโน้มที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีถัดไป มีการวิเคราะห์กระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ในมุมมองของวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)  ที่ให้เกียรติมาปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ก้าวทันเศรษฐกิจวิถีใหม่ สู่โอกาสภาคเกษตรไทยที่ท้าทาย” รวมถึงการเสวนา “ทางรอดปลอดภัย สู่เกษตรวิถีใหม่ที่ยั่งยืน” โดย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย) ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนธุรกิจเกษตร (Agribusiness) (นายปริญญ์ พานิชภักดิ์) และผู้แทน Young Smart Farmer (นายยงยุทธ เลารุจิราลัย) ซึ่งข้อคิดเห็นต่างๆ ที่ได้แลกเปลี่ยนกันในวันนี้ สามารถนำไปเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับกับสถานการณ์หรือปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรในระยะต่อไป นำไปสู่การพัฒนาการเกษตรของไทยให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมั่งคงและยั่งยืนต่อไป
ด้าน นายฉันทานนท์  วรรณเขจร เลขาธิการ สศก. กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 พบว่า หดตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยหดตัวจากสาขาพืช สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขณะที่สาขาปศุสัตว์ขยายตัว โดย สาขาพืช หดตัวร้อยละ 4.7 เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่งผลให้พืชสำคัญมีผลผลิตลดลง เช่น ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มังคุด และเงาะ อย่างไรก็ตาม ยังมีผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น คือ ข้าวนาปี เนื่องจากในช่วงกลางปี 2563 เป็นต้นมา มีปริมาณน้ำฝนมากกว่าในปี 2562 ทำให้เกษตรกรสามารถปลูกข้าวนาปีรอบ 2 ได้เพิ่มขึ้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการควบคุมและกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ดี ลำไย เนื่องจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2560 เริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ และทุเรียน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาจูงใจให้เกษตรกรมีการบำรุงและดูแลรักษา ประกอบกับมีพื้นที่ปลูกใหม่ในปี 2558 ที่เริ่มให้ผลผลิตได้ในปีนี้
สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น มีการจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน การเฝ้าระวังและควบคุมโรคระบาดที่ดี ทำให้สินค้าปศุสัตว์สำคัญทั้งไก่เนื้อ ไข่ไก่ โคเนื้อ และน้ำนมดิบ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น  สาขาประมงหดตัวร้อยละ 2.6 เนื่องจากผลผลิตกุ้งทะเลเพาะเลี้ยงลดลงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ จากการสูญเสียตลาดบางส่วนให้กับประเทศคู่แข่ง ทำให้เกษตรกรมีการปรับลดจำนวนลูกพันธุ์และชะลอการลงลูกกุ้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ขณะที่ประมงน้ำจืดมีผลผลิตลดลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะปลานิลและปลาดุก เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้น
สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 3.6 เนื่องจากกิจกรรมการจ้างบริการทางเกษตรต่างๆ ทั้งการเตรียมดิน การดูแลรักษา และการเก็บเกี่ยวลดลง ตามเนื้อที่เพาะปลูกและเนื้อที่เก็บเกี่ยวของพืชสำคัญที่ลดลง และสาขาป่าไม้ หดตัว ร้อยละ 0.5 เนื่องจากผลผลิตไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส ครั่ง และรังนก ลดลง เป็นผลจากการตัดโค่นสวนยางเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพันธุ์ดีลดลง  ความต้องการไม้ยูคาลิปตัสและครั่งของประเทศคู่ค้าสำคัญลดลงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน
อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 จะหดตัว แต่ด้วยการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล และของกระทรวงเกษตรฯ ทำให้ภาคเกษตรและเกษตรกรไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนโดยการดำเนินนโยบายอย่างต่อเนื่องของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer การส่งเสริมตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ การตลาดนำการผลิต ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาตรการเยียวยาเกษตรกร จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ได้มีการจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้เกษตรกรเป็นระยะเวลา 3 เดือน การส่งเสริมการบริโภคและการใช้สินค้าเกษตรในประเทศ การเพิ่มศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่มีคุณภาพ มาตรฐานและความเชื่อมั่น ในคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเกษตรไทย
สำหรับปี 2564  คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 1.3 – 2.3  แต่ยังคงต้องคำนึงถึงปัจจัยและสถานการณ์สำคัญที่อาจจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศ สถานการณ์การระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช การระบาดของโรคในสัตว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของโควิด-19 อัตราแลกเปลี่ยน เพราะหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศคู่แข่ง จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของสินค้าเกษตรไทย รวมไปถึงราคาน้ำมันดิบที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร  ซึ่ง สศก. จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
“ภาวะเศรษฐกิจการเกษตร จะสะท้อนให้เห็นถึงผลการพัฒนาภาคเกษตรในภาพรวม แต่ยังไม่ใช่การบ่งชี้ว่าเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง นอกจากนี้ การเติบโตของภาคเกษตรในระดับสูง ไม่ได้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของมาตรฐานการครองชีพของเกษตรกรทุกคน เสมอไป ดังนั้น หากต้องการมองถึงความอยู่ดีกินดีและการกระจายรายได้ของเกษตรกรในประเทศ จะต้องพิจารณาให้ละเอียดลงไปถึงตัวชี้วัดอื่นๆ อาทิ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของเกษตรกร สัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน สัดส่วนเกษตรกรยากจน เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมในแต่ละพื้นที่นั้นมีความแตกต่างกัน  ทั้งนี้ สศก. หน่วยงานเนวิเกเตอร์เศรษฐกิจการเกษตร จะเดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรและเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ไปสู่การเป็น Big Data เพื่อการวิเคราะห์เศรษฐกิจการเกษตรที่ถูกต้องและแม่นยำ” เลขาธิการ สศก. กล่าวในที่สุด
 
อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตร
                                                                                                                                                               หน่วย: ร้อยละ
สาขา 2563 2564
ภาคเกษตร -3.3 1.3–2.3
  พืช -4.7 1.9–2.9
  ปศุสัตว์ 2.7 1.0–2.0
  ประมง -2.6 0.1–1.1
  บริการทางการเกษตร -3.6 0.2–1.2
  ป่าไม้ -0.5 1.0–2.0
 
ที่มา: กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
***********************************
ข่าว  :  ส่วนประชาสัมพันธ์  / ข้อมูล : กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร